ประวัติชุดครุย

ตอนนี้เพื่อนๆหลายคนก็เรียนใกล้จะจบแล้ว หลังจากที่เรียนจบก็ต้องรับปริญญา
ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครต่อใครก็อยากจะมีวันนั้นกัน ถ้าพูดถึงงานรับปริญญาก็ต้องนึกถึงชุดครุยใช่ไหมครับ
แล้วเพื่อนๆเคยสงสัยไหมครับว่าชุดครุยที่เราใส่กันตอนงานรับปริญญาเนี่ยมันมีประวัติความเป็นมาอย่างไงกันบ้าง
พอดีผมไปเจอมา…เลยเอามาฝากเพื่อนๆกันเพื่อเป็นเกล็ดความรู้เล็กๆน้อยๆครับ

ครุย เป็นเสื้อคลุมประเภทหนึ่ง มีลักษณะหลวม ยาวถึงเข่าหรือทั้งตัว ใช้สวมหรือคลุมทับด้านนอก ทั้งชายและหญิงในยุโรปใส่ครุยกันมาตั้งแต่ยุคกลางตอนต้นจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ปัจจุบันครุยยังคงใช้สวมใส่เพื่อแสดงตำแหน่งฐานะในอาชีพที่มีรากฐานย้อนไปได้ถึงยุคกลาง เช่น ผู้พิพากษา ในวงวิชาการ ครุยยังใช้เพื่อแสดงวิทยฐานะอีกด้วย

ครุยในประเทศไทย
          ในประเทศไทย ครุยเป็นเสื้อคลุมประดับเกียรติยศ สวมทับบนเครื่องแบบเต็มยศตามหน้าที่ในพระราชพิธี ซึ่งมีหมายรับสั่งให้สวมครุย มี 3 แบบคือ ครุยพระราชวงศ์ ครุยเสนามาตย์ และครุยตำแหน่ง

          ครุยพระราชวงศ์ เป็นฉลองพระองค์ครุยสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ สำหรับฉลองพระองค์ครุยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเรียกกันว่า ฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์

          ครุยเสนามาตย์ ตามความในมาตรา 5 ของพระราชกำหนดเสื้อครุย (เพิ่มเติม) พุทธศักราช 2457 มีความว่า ผู้ซึ่งจะสวมครุยได้โดยบรรดาศักดิ์นั้น คือ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงนับตั้งแต่ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า หรือจุลวราภรณ์ หรือจุลสุราภรณ์ขึ้นไป

          ครุยตำแหน่ง ตามมาตรา 6 ของพระราชกำหนดเสื้อครุย (เพิ่มเติม) พุทธศักราช 2457 ได้กำหนดว่าผู้ที่จะสวมเสื้อนั้น คือ (ก) ผู้พิพากษาทุกชั้นให้สวมเสื้อครุยในเวลาแต่งเต็มยศทุกเมื่อ (ข) พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้อ่านประกาศหรืออ่านคำถวายชัยมงคลในชั่วเวลาเฉพาะกาล และ (ค) ข้าราชการเข้าในหน้าที่พระราชพิธีอันมีกำหนดให้สวมเสื้อครุย เสื้อครุยเสนามาตย์มี 3 ชั้นคือ ชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี ได้มีการกำหนดไว้แน่นอนว่าตำแหน่งและยศใดมีสิทธิ์สวมเสื้อครุยชั้นใด

Leave a comment